การพูดในที่ชุมชน
การพูดในที่ชุมชน คือ การพูดในที่สาธารณะ มีผู้ฟังเป็นจำนวนมาก ผู้พูดต้องสนใจปฏิกิริยาตอบสนองผู้ฟัง ทั้งเป็นวัจนภาษาและอวัจนภาษาการพูดต่อหน้า
ประชุมชนเป็นการเปิดโอกาส ให้ผู้พูดได้แสดงความสามารถเฉพาะตัวเพราะทุกคนที่ไม่เป็นใบ้ย่อมพูดได้ แต่บางคนเท่านั้นที่พูดเป็น เพราะการพูดเป็นทั้งศาสตร์
และศิลป์ ไม่จำเป็นต้องอาศัยพรสวรรค์เสมอไปแต่สามารถพูดได้ เพราะการศึกษา การฝึกฝน ฉะนั้นการฝึกพูดในที่ประชุมชน ซึ่งเป็นวิธีที่ดีอีกวิธีหนึ่งในการปรับปรุง
บุคลิกภาพทั้งภายในและภายนอกเพื่อการเป็นนักพูดที่ดี
วิธีการพูดในที่ชุมชน
1. พูดแบบท่องจำ
เตรียมเรื่องพูดอย่างมีคุณค่า สาระถูกต้องเหมาะสม แล้วจำเรื่องพูดให้ได้ เวลาพูดให้เป็น ธรรมชาติ มีลีลา จังหวะ ถ่ายทอดออกมาทุกตัวอักษร
2. พูดแบบมีต้นฉบับ
พูดไปอ่านไป จากต้นร่างที่เตรียมมาอย่างดีแล้ว แต่ไม่ใช่ก้มหน้าก้มตาอ่าน เพราะไม่ใช่ ผลดีสำหรับผู้พูด
3. พูดจากความเข้าใจ
เตรียมเรื่องพูดไว้ล่วงหน้า ถ่ายทอดสารจากความรู้ความเข้าใจของตนเอง มีต้นฉบับ เฉพาะหัวข้อสำคัญเท่านั้น เช่น การพูด , สนทนา , อภิปราย , สัมภาษณ์
4. พูดแบบกะทันหัน
พูดโดยไม่มีโอกาสเตรียมตัวเลย ซึ่งผู้พูดต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบในการแก้ปัญหาฉพาะหน้า เมื่อทราบว่าตนเองต้องได้พูด ต้องเตรียมลำดับความคิด
และนำเสนออย่างฉับพลัน การพูดทั้ง 4 แบบนี้ เป็นวิธีการนำเสนอสารต่อผู้ฟัง ผู้พูดจะใช้วิธีใดขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมาย เพื่ออะไร เนื้อหาสาระ โอกาส และสถานการณ์
การพูดในที่ชุมชนตามโอกาสต่างๆ
การพูดในที่ประชุมชนตามโอกาสต่าง ๆ จำแนก เป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. การพูดอย่างเป็นทางการ
เป็นการพูดในพิธีต่าง ๆ มีการวางแผนแนวปฏิบัติไว้อย่างชัดเจน เช่น การปราศรัยของนายกรัฐมนตรี การให้โอวาทของผู้อำนวยการโรงเรียนในวันปฐมนิเทศ
การพูดสุนทรพจน์ของรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ การอภิปรายในรัฐสภา ฯลฯ
2. การพูดอย่างไม่เป็นทางการ
เป็นการพูดที่ให้บรรยากาศเป็นกันเอง เช่น พูดเพื่อนันทนาการในกิจกรรมต่าง ๆ การพูดสังสรรค์งานชุมนุมศิษย์เก่า การพูดเรื่องตลกในที่ประชุม
การกล่าวอวยพรตามโอกาสต่าง ๆ ในงานสังสรรค์
3. การพูดกึ่งทางการ
เป็นการพูดที่ลดความเป็นแบบแผนลง เช่น พูดอบรมนักเรียนในคาบจริยธรรม การกล่าว
ต้อนรับผู้มาเยี่ยมชม การกล่าวขอบคุณผู้ช่วยเหลือกิจกรรม กล่าวบรรยายสรุปแก่ผู้เข้าชมตามสถานที่ต่าง ๆ
อนึ่ง การพูดในที่ประชุมแต่ละครั้งจะเป็นการพูดประเภทใด ผู้พูดต้องวิเคราะห์โอกาส
และสถานการณ์ แล้วเตรียมศิลปะการใช้ภาษาให้ถูกต้องเหมาะสมกับโอกาสนั้น เพื่อที่จะพูดได้ถูกต้อง ไม่เก้อเขิน เข้ากับบรรยากาศได้ดี มีความประทับใจ
การเตรียมตัวพูดในที่ชุมชน
การพูดในที่ประชุมชนเนื่องจากมีผู้ฟังเป็นจำนวนมาก ผู้ฟังตั้งความหวังจะได้รับความรู้และสาระประโยชน์จากการฟัง ผู้พูดจึงต้องเตรียมตัวเป็นอย่างดี
มีความเชื่อมั่นในตนเอง กล้าแสดงออกจะช่วยให้ผู้พูดประสบความสำเร็จได้ผู้พูดจะเตรียมตัวอย่างไรบ้าง จึงขอเสนอหลักกว้างดังนี้
1. กำหนดจุดมุ่งหมายให้ชัดเจนว่าจะพูดอะไร เพื่ออะไร มีขอบข่ายกว้างขวางมากน้อย เพียงใด
2. วิเคราะห์ผู้ฟัง พิจารณาจำนวนผู้ฟัง เพศ วัย การศึกษา สถานภาพทางสังคม อาชีพ ความสนใจ ความมุ่งหวัง และทัศนคติ ที่กลุ่มผู้ฟังมีต่อเรื่องที่พูด
และตัวผู้พูดเพื่อนำข้อมูลมาเตรียมพูด เตรียมวิธีการใช้ภาษาให้เหมาะกับผู้ฟัง
3. กำหนดขอบเขตของเรื่อง โดยคำนึงถึงเนื้อเรื่องและเวลาที่จะพูด กำหนดประเด็น สำคัญให้ชัดเจน
4. รวบรวมเนื้อหา ต้องจัดเนื้อหาที่ผู้ฟังได้รับประโยชน์มากที่สุด การรวบรวมเนื้อหาทำได้ หาได้จากการศึกษา ค้นคว้าจากการอ่านการสัมภาษณ์ ไต่ถามผู้รู้
ใช้ความรู้ความสามารถ แล้วจดบันทึก
5. เรียบเรียงเนื้อเรื่อง ผู้พูดจัดทำเค้าโครงเรื่องให้ชัดเจนเป็นไปตามลำดับ จะกล่าวเปิดเรื่องอย่างไร เตรียมการใช้ภาษาให้เหมาะสม กะทัดรัด เข้าใจง่าย ตรงประเด็น
พอเหมาะกับเวลา
6. การซ้อมพูด เพื่อให้แสดงความมั่นใจต้องซ้อมพูด ออกเสียงพูดอักขรวิธี มีลีลาจังหวะ ท่าทาง สีหน้า สายตา น้ำเสียง มีผู้ฟังช่วยติชมการพูด
มีการบันทึกเสียงเป็นอุปกรณ์การฝึกซ้อม ในกรณีเป็นการพูด แบบฉับพลัน ผู้พูดไม่รู้ตัวมาก่อน หรือรู้ล่วงหน้าเพียงระยะเวลาสั้น ๆ เช่น กล่าวอวยพรในงานมงคล
สมรส กล่าวแสดงความยินดี กล่าวแสดงความคิดเห็นในนาม ของแขกผู้มีเกียรติ ผู้พูดส่วนน้อยที่พูดได้อย่างไม่เคอะเขิน ผู้พูดที่มีประสบการณ์สามารถสร้าง
บรรยากาศได้ดี แต่ผู้พูดเป็นจำนวนมากยังเคอะเขินจึงขอเสนอข้อแนะนำในการพูด ดังนี้
• เมื่อได้รับเชิญให้พูด อย่าตกใจ จงภูมิใจที่ได้รับเกียรติ ลุกขึ้นเดินไปอย่างสง่าผ่าเผย กล่าวทักทายต่อที่ประชุมให้เหมาะสมกับที่ประชุม พร้อมกับสังเกตสถานการณ์
แวดล้อม เริ่มประโยคแรกเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ฟังให้มากที่สุด
• พูดเรื่องที่ง่ายและใกล้ตัวที่สุด ลำดับเรื่องที่จะพูดก่อนหลัง โดยเสนอแนวคิดอย่างกระชับที่สุด พูดไปอย่างต่อเนื่อง พูดบทสรุปในตอนจบอย่างประทับใจ
พยายามรักษาเวลาที่กำหนดไว้
• ในกรณีที่เป็นการตอบคำถาม กล่าวทักทายหรือทำขั้นตอนอย่างสั้นๆ แล้วทวนคำถามให้กระชับ จึงตอบโดยลำดับเรื่องให้ตรงประเด็น ขยายความให้ชัดเจน
• ผู้พูดต้องมีปฏิภาณ ( ความสามารถในการแสดงความคิดที่จะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ รวมทั้งความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างฉับไว ) เรียบเรียงเนื้อเรื่องพูดได้ทันที
คิดได้เร็ว ฉะนั้น จึงฝึกหัดให้คิด เร็ว ๆ ไว้บ่อย ๆ จะได้ช่วยได้มาก
การพูดประเภทต่างๆ ในที่ชุมชน
1. สุนทรพจน์
สุนทรพจน์ หมายถึง คำพูดที่ดีงาม ไพเราะจับใจ การพูดสุนทรพจน์มักมีในพิธีสำคัญ เช่น พิธีต้อนรับแขกเมืองคนสำคัญ พิธีได้รับตำแหน่งสำคัญ
เช่น นายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดีหรือกล่าวในงานฉลองระลึกถึงบุคคลสำคัญ วันสำคัญ ระดับชาติ หรือเป็นการกล่าวในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อสร้างสรรค์จรรโลงใจ
เป็นคำพูดที่แสดงความปรารถนาดีในทางการเมือง การกล่าวสุนทรพจน์เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง มักได้รับการยกย่องว่าเป็นการพูดชั้นยอด ลักษณะสุนทรพจน์
• ใช้ถ้อยคำไพเราะลึกซึ้งกินใจ จับใจ
• โน้มน้าวให้ผู้ฟังเห็นคล้อยตาม
• กระตุ้นผู้ฟ้ง มีความมั่นใจ และยินดีร่วมมือ
• สร้างบรรยากาศให้เกิดความหรรษา และให้ความสุขแก่ผู้ฟัง
โครงสร้างทั่วไปของสุนทรพจน์
1. ตอนเปิดเรื่อง กระตุ้นให้ผู้ฟังเห็นความสำคัญของเรื่องที่จะพูด
2. ดำเนินเรื่อง ประกอบด้วยเนื้อหาสาระลำดับความสำคัญอย่างชัดเจน
3. ตอนจบเรื่อง สรุปความทิ้งท้ายให้ผู้ฟังนำไปคิด หรือฝากไว้ในความทรงจำตลอดไป
ลักษณะสุนทรพจน์ทางการเมือง
1. การอภิปราย ให้รัฐสภาหรือชุมชนกล่าวถึงปัญหาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับส่วนได้ส่วนเสียของหมู่คณะ
2. การแถลงคารม เป็นการพูดจาในศาลระหว่างทนายโจทย์ ทนายจำเลย เพื่อชี้ประเด็นให้ผู้ฟัง ผู้พิพากษา เห็นข้างฝ่ายตน
3. การพูดประณาม เป็นการพูดยกย่องหรือตำหนิการกระทำของบุคคลสำคัญ ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เป็นการชมเชยสนับสนุนหรือแสดงความไม่เห็นด้วย
การพูดทางการเมืองจะประสบความสำเร็จ ต้องพูดให้ผู้ฟังสะดุดใจ ชวนฟัง ประกอบด้วยคารม โวหาร ภาพพจน์ ที่เตรียมไว้เป็นอย่างดี ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นต้องแทรกอารมณ
์ขันช่วยผ่อนคลายความเครียด
ความรู้เพิ่มเติมเรื่อง สุนทรพจน์
โครงสร้างสุนทรพจน์ ขั้นตอนของสุนทรพจน์
1. คำนำ หรือการเริ่มต้น (Introduction)
2. เนื้อเรื่อง หรือสาระสำคัญของเรื่อง (Discussion)
3. สรุปจบ หรือการลงท้าย (Conclusion)
4. " ขึ้นต้นให้ตื่นเต้น ตอนกลางให้กลมกลืน และตอนจบให้จับใจ"
คำนำ
5 - 10 %
เนื้อเรื่อง
80 -90%
สรุปจบ
5 - 10 %
ข้อพึงหลีกเลี่ยงในการขึ้นต้น
• อย่าออกตัว
• อย่าขออภัย
• อย่าถ่อมตน
• อย่าอ้อมค้อม
หลักในการขึ้นต้นมีอยู่ว่า
• ขึ้นต้นแบบพาดหัวข่าว (Headline)
• ขึ้นต้นด้วยคำถาม (Asking Question)
• ขึ้นต้นด้วยการทำให้ผู้ฟังสงสัย (Interest Arousing)
• ขึ้นต้นด้วยการอ้างบทกวี หรือวาทะของผู้มีชื่อเสียง (Quousing)
• ขึ้นต้นให้สนุกสนาน (Entertainment)
ข้อพึงหลีกเลี่ยงในการสรุปจบ
1. ขอจบ ขอยุติ
2. ไม่มากก็น้อย
3. ขออภัย ขอโทษ
4. ขอบคุณ
หลักในการสรุปจบมีอยู่ว่า มีความหมายชัดเจน ไม่เลื่อนลอยสัมพันธ์กับเนื้อเรื่อง และหัวข้อเรื่อง กระทัดรัดไม่เยิ่นเย้อ พุ่งขึ้นสู่จุดสุดยอดของสุนทรพจน
วิธีสรุปจบที่ได้ผล
• จบแบบสรุปความ
• จบแบบฝากให้ไปคิด
• จบแบบเปิดเผยตอนสำคัญ
• จบแบบชักชวนและเรียกร้อง
• จบด้วยคำคม คำพังเพย สุภาษิต
2. โอวาท
โอวาท คือ คำแนะนำตักเตือน คำสอนที่ผู้ใหญ่ให้แก่ผู้น้อย โอวาทของเจ้านายเรียกพระโอวาท ของพระเจ้าแผ่นดิน เรียก พระบรมราโชวาท
ลักษณะของโอวาท
• เนื้อหามีคติเตือนใจ มีเหตุผล ไม่ยืดยาว
• เป็นการแสดงความปรารถนาดี บางครั้งอาจกล่าวตำหนิตรง ๆ บ้าง
• อาจนำไปประพฤติปฏิบัติได้จริง ผู้ฟังต้องฟังด้วยความเคารพ และยินดีที่จะนำคำสอน คำชี้แนะไปปฏิบัติ
3. คำปราศรัย
คำปราศรัย มีลักษณะคล้ายการแสดงสุนทรพจน์ในด้านเนื้อหา ภาษา และทัศนคติของผู้กล่าว ซึ่งสามารนำไปปฏิบัติได้ คำปราศรัยเป็นการพูดที่เป็นพิธีกา
รจึงต้องมีการตระเตรียมมาก่อนเป็นอย่างดี
ลักษณะของคำปราศรัย
• พูดถึงความสำคัญของโอกาสนั้น
• เน้นความสำคัญของสิ่งนั้น ๆ
• ชี้แจงความสำเร็จ หรือผลงานที่ผ่านมา
• กล่าวถึงอดีต ปัจจุบัน และความหวังในอนาคต และอวยพรให้เกิดความหวังใหม่ ๆ
4. คำไว้อาลัย
คำกล่าวไว้อาลัย มี 2 ลักษณะ คือ ใช้สำหรับงานศพ คือ พูดถึงคุณความดีของผู้เสียชีวิต ใช้สำหรับงานเลี้ยงส่ง ผู้ที่จากไปรับตำแหน่งใหม่ลาออก
หรือเกษียณอายุ นิยมเรียกว่า อำลาอาลัย
ลักษณะทั่วไปของคำกล่าวไว้อาลัย
• กล่าวถึงประวัติผู้ตายหรือผู้ที่จากไปอย่างสั้นๆ
• กล่าวถึงผลงานของผู้นั้น ( ข้อ 1)
• สาเหตุของการเสียชีวิต หรือจากไป
• กล่าวถึงความอาลัยของผู้ที่อยู่เบื้องหลัง
• แสดงความว่าที่ผู้จากไป จะไปอยู่สถานที่ดีและมีความสุข
5. กล่าวอวยพร
1. อวยพรขึ้นบ้านใหม่
กล่าวถึงความสำเร็จของครอบครัวในการสร้างหลักฐานความซื่อสัตย์สุจริต และขยันหมั่นเพียรของเจ้าของบ้านอวยพรให้ประสบความสุข
2. อวยพรวันเกิด
ความสำคัญของวันนี้ คุณความดีของเจ้าภาพ และ ความเจริญเติบโต ก้าวหน้า หรือเป็นที่พึ่งของบุตรหลาน อวยพรให้เป็นสุขอายุยืนยาว
3. อวยพรคู่สมรส
ความสัมพันธ์ของผู้กล่าวกับคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ความดีที่ทั้งสองรักกัน และการแนะนำหลักการครองชีวิต อวยพรให้เป็นสุข
6. กล่าวสดุดี
1. กล่าวมอบวุฒิบัตร หรือประกาศนียบัตร
บอกความหมาย และความสำคัญของวุฒิบัตร ความเหมาะสมของผู้ได้รับประกาศนียบัตร มอบวุฒิบัตร และปรบมือให้เกียรติ
2. กล่าวสดุดีบุคคลสำคัญ
กล่าวนาม , กล่าวชีวประวัติ ผลงาน งานที่เป็นมรดกตกทอด ยืนยันสืบทอดคุณความดี แสดงคารวะและปฏิญาณร่วมตนร่วมกัน
7. กล่าวมอบรางวัล หรือตำแหน่ง
1. กล่าวมอบรางวัล หรือตำแหน่ง
ชมเชยความสามารถ และความดีเด่นของผู้ได้รับรางวัล หรือตำแหน่ง ความหมายและเกียรตินิยมของรางวัลหรือตำแหน่ง ฝากความหวังไว้กับผู้ที่จะรับรางวัล
หรือดำรงตำแหน่งมอบรางวัล หรือของที่ระลึกปรบมือให้เกียรติสำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลกล่าวขอบคุณ กล่าวยืนยันที่จะรักษารางวัลเกียรติยศนี้
2. กล่าวรับมอบตำแหน่ง
ขอบคุณที่ได้รับความไว้วางใจ และให้เกียรติ ชมเชยคณะกรรมการชุดเก่า ( ในข้อดีจริงๆ ) ที่กำลังหมดวาระ แถลงนโยบายโดยย่อ
ใช้คำสัญญาที่จะรักษาเกียรติ และทำหน้าที่ดีที่สุด พร้อมกับขอความร่วมมือจาก คณะกรรมการและสมาชิกทุกคน
8. กล่าวต้อนรับ
1. ต้อนรับสมาชิกใหม่
ความสำคัญและความหมายของสถาบัน หน้าที่และสิทธิ์ที่สมาชิกจะพึงได้รับกล่าวต้อนรับมอบของที่ระลึก ( เข็มหรืออื่น ๆ ) ถ้ามี
2. ต้อนรับผู้มาเยือน
เล่าความเป็นมาของสถาบันโดยย่อ กล่าวแสดงความรู้สึกยินดีที่ได้ต้อนรับมอบของที่ระลึก แนะนำให้ที่ประชุมรู้จัก และเชิญกล่าวตอบ
9. ปาฐกถา
การแสดงปาฐกถา คือ การพูดถึงความรู้ ความคิด นโยบายแสดงเหตุผล และสิ่งที่น่าสนใจผู้ที่แสดงปาฐกถา ย่อมต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง
ในเรื่องนั้น ๆ การแสดงปาฐกถาไม่ใช่การสอนวิชาการ แต่มีข้อเสนอแนะ หรือข้อคิดเห็นสอดแทรก และไม่ทำให้บรรยากาศเคร่งเครียด
มีหลักการแสดงปาฐกถาดังนี้
• พูดตรงตามหัวข้อกำหนด
• เนื้อหาสาระให้ความรู้ มีคำอธิบายตัวอย่างให้ฟังเข้าใจได้รวดเร็ว
• สร้างทัศนคติที่ดีต่อเรื่องที่พูด
10. การพูดเป็นพิธีกร และโฆษก
พิธีกร หมายถึง ผู้ทำหน้าที่ดำเนินรายการในกิจการนั้น ๆ ให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายพิธีกรจะเป็นผู้ทำให้รายการนั้นน่าสนใจมากน้อยเพียงใด
ต้องทำหน้าที่ประสานประโยชน์ให้เกิดแก่ผู้ฟัง และผู้ร่วมรายการ หรือ คือ ผู้ประสานความเข้าใจอันดีระหว่างผู้แสดงในรายการนั้นกับผู้ฟัง ผู้ชม
โฆษก ( โคสก ) หมายถึง ผู้ประกาศ , ผู้โฆษณา มีหน้าที่ติดต่อสื่อความหมายระหว่างผู้รับเชิญ กับผู้ชม หรือผู้ฟัง
ข้อแนะนำสำหรับผู้ทำหน้าที่พิธีกร และโฆษก
• มีบุคลิกภาพดี
• ขณะพูดหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส มีชีวิตชีวา ใจเย็น พูดจาไพเราะนิ่มนวล
• มีปฏิภาณไหวพริบแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ มีความคล่องตัว สร้างบรรยากาศให้มีความเป็นกันเอง
• พูดให้สั้น ได้เนื้อหาสาระ ใช้ถ้อยคำสละสลวย เพื่อให้ผู้ฟังเกิดความสนใจ กระตือรือร้นอยากฟัง
• ศึกษาเรื่องราวที่จะต้องทำหน้าที่นำเสนอรายการเป็นอย่างดี จัดลำดับการเสนอสาระอย่างมีขอบเขต มีทัศนคติที่ดีต่อหน้าที่ที่จะต้องทำ และมีความรับผิดชอบ
การเป็นพิธีกร
การเป็น " พิธีกร " นั้น ไม่ใช่สักแต่ว่า " มือถือไมค์ ไฟส่องหน้า " ใคร ๆ ก็เป็นได้ หากแต่ต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญ ความเข้าใจ และปฏิภาณไหวพริบหลาย ๆ
อย่างมาประกอบกันเพื่อทำให้งานดำเนินไปสู่จุดหมายปลายทางพิธีกร ไม่ใช่ผู้ประกาศ พิธีกรไม่ใช่ตัวตลก พิธีกรไม่ใช่ผู้โฆษณา พิธีกรไม่ใช่ผู้ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์
และพิธีกรไม่ใช่ผู้พูดสลับฉากบนเวที แต่ พิธีกรเป็นที่รวมของบทบาทหน้าที่อย่างน้อย 4 ประการ คือ
• เป็นเจ้าของเวที (Stage Owner)
• เป็นผู้ดำเนินรายการ (Program Monitor)
• เป็นผู้แก้สถานการณ์เฉพาะหน้า (Situation Controller)
• เป็นผู้ประสานงานบันเทิงและสังคม (Social Linkage)
ดังนั้น พิธีกร จึงต้องมีความรู้พื้นฐาน 4 อย่าง คือ
• รู้ลำดับรายการ
• รู้รายละเอียดของแต่ละรายการ
• รู้จักผู้เกี่ยวข้องในแต่ละรายการ ( ใครจะมารับช่วงเวทีต่อไป )
• รู้กาลเทศะ ( ไม่เล่นหรือล้อเลียนจนเกินขอบเขต ต้องมีความพอดี )
โอกาสต่าง ๆ ในการเป็นพิธีกร ได้แก่
• ผู้ดำเนินรายการบนเวทีในงานแสดงต่างๆ เช่น ดนตรี ละคร โชว์ ฯลฯ|
• เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย โต้วาที ยอวาที แซววาที
• แนะนำองค์ปาฐก ผู้บรรยายรับเชิญ
• จัดรายการทางวิทยุกระจายเสียง
• จัดรายการทางโทรทัศน์
• ดำเนินรายการในงานพระราชพิธี งานพิธี และงานมงคลต่างๆ
• เป็นโฆษกของพรรคการเมืองในการปราศรัยหาเสียง หรือในงานต่างๆ
เทคนิค 7 ประการในการเป็นพิธีกร
• ต้องมีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ ( พักผ่อนเพียงพอ )
• ต้องมาถึงบริเวณงานก่อนเวลา ( อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง )
• สำรวจความพร้อมของเวที แสง สี และเสียง ( ทดสอบจนแน่ใจ )
• เปิดรายการด้วยความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า
• ดึงดูดความสนใจมาสู่เวทีได้ตลอดเวลา ( ทุกครั้งที่พูด ) อย่าทิ้งเวที
• แก้ปัญหาหรือควบคุมสถานการณ์เฉพาะหน้าได้อย่างดี
• ดำเนินรายการจนจบ หรือบรรลุเป้าหมายที่วางไว้